ร้อยทั้งร้อยเมื่อคิดถึงรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว แน่นอนว่าต้องมีสถานีชาร์จอยู่แล้วจริงมั้ยครับ อย่างที่ทราบกันดีสถานีชาร์จนั้นเริ่มมีอยู่ทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ปั้มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า คอนโดฯต่างๆ แต่เราก็ต้องการการชาร์จในที่พักอาศัยเพื่อความพร้อมในการออกเดินทางทุกๆวันใช่มั้ยล่ะ? วันนี้เราจะมีดูกันว่า เครื่องชาร์จแต่ละแบบเริ่มต้นต้องรู้อะไรกันบ้าง
ขั้นแรกแน่นอนว่า รถยนต์ไฟฟ้าของเรานั้นมี On-Board Charger ขนาดเท่าใด เนื่องจากหลังๆ การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านั้นรุนแรงขึ้นทำให้สเปคของรถยนต์นั้นมีหลากหลายมากๆ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานแรกๆที่ควรจะรู้ไว้ครับ
EV Charger ถ้าหากให้แยกแบบหลักๆแล้ว ก็จะมีกันราวๆ 4 ประเภทหลักๆ
1) AC to DC เสียบตรงกับไฟบ้าน
เป็นแบบปลั๊กเสียบตามไฟบ้านมาตรฐานธรรมดาทั่วไป ไม่มีระบบป้องกันภัยที่ซับซ้อน มักจะส่งกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 11 A. ซึ่งค่อนข้างต่ำ ทำให้ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างนานพอสมควรเลยทีเดียว นอกจากนี้การดึกกระแสไฟฟ้าที่สูงอาจจะทำให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นที่ตัวสายเอาได้ ดังนั้นที่ชาร์จแบบนี้อาจจะใช้ง่ายก็จริงแต่อาจจะดูบอบบางไปซักนิดนึง หรือเหมาะแก่การพกพามากกว่าครับ
2) AC to DC แต่ไม่มี Protection Device
แบบนี้มักจะเป็นกับสายชาร์จที่แถมมากับตัวรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่มีแผงวงจรที่ควบคุมแรงดันไฟฟ้า หรือการตัดไฟเมื่อชาร์จเต็ม ทำให้อาจจะไม่เหมาะกับการชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืนหรืออาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับแบตเตอรี่ซักเท่าไหร่ เหมาะกับการเสียบชาร์จฉุกเฉินหรือระยะสั้นเท่านั้น ทำให้ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นระบบชาร์จหลัก
3) Fixed Dedicated Circuit-Socket
ประเภทนี้มีความปลอดภัยเรียกได้ว่าสูงที่สุดสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในที่พักอาศัย จะต้องทำการชาร์จผ่าน EV Charger หรือเรียกว่าเป็นสถานีก็ย่อมได้ครับ โดยการชาร์จจะเสียบผ่านปลั๊กและเต้ารับแบบพิเศษ มีแผงวงจรที่คอยควบคุมไฟฟ้าโดยเฉพาะที่ชาร์จได้อย่างยืดหยุ่นตั้งแต่ 3.7 ไปจนถึง 22 kW. มีระบบป้องกันภัยตามมาตรฐาน เช่น ป้องกันความร้อนเกิน ระบบสายดินกันไฟฟ้ารั่ว ระบบป้องกันไฟฟ้าโหลดเกินขณะชาร์จ ระบบกันไฟฟ้ากระชาก หรือระบบอัจฉริยะอื่นๆ
4) DC Connection
ทั้ง 3 ประเภทก่อนหน้านี้เป็นการต่อกับไฟฟ้าบ้านโดยตรง แต่กับประเภทที่ 4 นี้จะรับไฟฟ้ากระแสตรงหรือ DC ผ่านตัวปลั๊กเฉพาะแบบ และไม่ได้ผ่านระบบชาร์จในตัวรถ ทำให้สามารถชาร์จได้สูงสุดถึง 50 kW. หรือที่เรามักได้ยินกันว่า Fast Charger นั่นเอง ซึ่งสถานีชาร์จแบบนี้นั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าแบบอื่นๆพอสมควร เพราะต้องการโครงสร้างการติดตั้งทางไฟฟ้าที่สูงโดยผู้เชี่ยวชาญครับ ดังนั้นน่าจะเหมาะในเชิงพาณิชย์อย่างเช่นร้านค้า ธุรกิจ มากกว่าบ้านเรือนครับ
แล้วส่วนใหญ่จะคำนวณอย่างไรล่ะ ว่าเราต้องชาร์จเป็นเวลานานแค่ไหน?
หากเราทราบขนาดของ On-Board Charger ของเราและขนาดแบตเตอรี่ก็จะสามารถคำนวณคร่าวๆเพื่อวางแผนการเดินทางได้ครับ โดยการนำขนาดของแบตเตอรี่หารเข้ากับ On-Board Charger ก็จะได้หน่วยเป็นชั่วโมงกลับมา อย่างเช่น On-Board Charger นั้นเท่ากับ 3.6 kW. และขนาดของแบตเตอรี่เท่ากับ 20 kWh. หารแล้วจะได้ 5.5 ชั่วโมงนั่นเองครับ แต่ขึ้นกับว่าตัวสถานีชาร์จเองนั้นรองรับความเร็วการชาร์จที่เท่าใดด้วยครับ
ดูเหมือนจะง่ายก็ง่าย จะซับซ้อนก็ซับซ้อนใช่มั้ยครับ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือเชิงพาณิชย์ท่านอาจจะตัดสินใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความรู้อาจจะดีกว่า เพราะนอกจากจะติดตั้งแล้วอย่าลืมว่ามีการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมอีกด้วย อาจจะต้องดูองค์ประกอบโดยรวมและความเหมาะสมเพื่อลงทุนให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ท่านรักอยู่ด้วยกันไปนานๆครับ